มูลนิธิเอ็มพลัสเชียงใหม่ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์การค้าเมญ่าฯ จัดกิจกรรมรณรงค์วันเอดส์โลก (World AIDS Day) ภายใต้แนวคิด “Communities Make the Difference รวมพลังชุมชนเพื่อยุติเอดส์ ”

เชียงใหม่-(1 ธ.ค.62) นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานวันเอดส์โลก ประจำปี 2562 และเปิดโครงการ Check in PrEP Chiang mai โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ผู้ช่วยผู้จัดการศูนย์การค้าเมญ่าฯ เครือข่าย องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม ณ ลานกิจกรรมอีเว้นท์ฮอลล์ ศูนย์การค้า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อกระตุ้นให้ประชากรโลกเกิดความตระหนักถึงปัญหาของโรคเอดส์ร่วมกัน และเป็นวันนานาชาติของการร่วมมือกันในการต่อต้านภัยจากโรคเอดส์ โดยประเทศไทย มีโรคเอดส์เกิดขึ้นตามรายงานครั้งแรก ในช่วง ปี พ.ศ. 2527 และตลอดจนถึงปี พ.ศ. 2533 จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเอดส์ในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2562 ได้จัดกิจกรรมรณรงค์วันเอดส์โลก ภายใต้แนวคิด “Communities Make the Difference รวมพลังชุมชนเพื่อยุติเอดส์ ” เพื่อให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม

นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีของไทยในปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ปีละประมาณ 6,300 ราย เฉลี่ยวันละ 15 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสมราว 4.4 แสนราย และแม้ว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ กว่า 3 แสนราย จะมีระบบหลักประกันสุขภาพดูแลอยู่แล้ว แต่การจะยุติปัญหาเอดส์ได้นั้น จะต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 สปสช.ได้สานต่อความสำเร็จโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ได้ทำโครงการ “เพร็พ พระองค์โสมฯ” หรือ “Princess PrEP” ที่เริ่มให้บริการในศูนย์สุขภาพชุมชน โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มียาเพร็พให้บริการที่ศูนย์สุขภาพเอ็มพลัสและแคร์แมท และ สปสช.ยังได้นำร่อง “บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” ในหน่วยบริการ 51 แห่งใน 21 จังหวัด ดูแลกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม ทุกสิทธิการรักษา
2,000 ราย โดยหน่วยบริการในจังหวัดเชียงใหม่ที่พร้อมให้บริการ ประกอบด้วย โรงพยาบาลฝาง โรงพยาบาลสันป่าตอง โรงพยาบาลเชียงดาว โรงพยาบาลไชยปราการ โรงพยาบาลจอมทอง และโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งการจัดบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ จะเป็นกลไกหนึ่งที่เข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาเอดส์ได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพอีกด้วย

ภายในงานมีกิจกรรมให้ความรู้และส่งเสริมการให้บริการเพร็พหรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีในรูปแบบเชิงสร้างสร้างค์และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชุนและการผสานการทํางานกับภาคีภาครัฐและ เอกชนเพื่อบรรลุเป้าหมายการยุติเอดส์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาโดยบุคคลชื่อดังในชุมชนความหลากหลายทางเพศและการให้ความรู้ในเรื่องของการป้องกันเอชไอวีรูปแบบต่างๆ ณ ศูนย์การค้า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์