มีนาคม 29, 2024

เทศบาลนครเชียงใหม่เเจงเหตุใดจึงลดระดับน้ำและขุดลอกตะกอนดิน คูเมืองหน้าตลาดประตูเชียงใหม่?

เหตุใดเทศบาลจึงลดระดับน้ำและขุดลอกตะกอนดิน ในบริเวณคูเมืองหน้าตลาดประตูเชียงใหม่?เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง คูเมืองหน้าตลาดประตูเชียงใหม่ มีค่าความสกปรกค่อนข้างสูง และมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเกิดขึ้นในทุกปี


จากการติดตามคุณภาพน้ำตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่าบริเวณคูเมืองหน้าตลาดประตูเชียงใหม่ มีค่าความสกปรกค่อนข้างสูง และมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเกิดขึ้นในทุกปี ทำลายทัศนียภาพ และเกิดมลพิษทางน้ำต่อคูเมืองเชียงใหม่
การเกิดสาหร่ายบลูม (Water bloom)หรือเรียกในทางวิชาการว่า ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) สาเหตุเกิดจากการที่มีสารอาหารที่เป็นสารอินทรีย์ และเกิดการสะสมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งได้แก่ ฟอสฟอรัส ไนโตรเจน ทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวเจริญเติบโตได้ดี สามารถมองเห็นเป็นน้ำสีเขียวที่เคยเกิดขึ้นในคูเมืองสองสามปีที่ผ่านมา ส่วนมากจะเป็นสาหร่ายเซลล์เดียว สีเขียวแกมน้ำเงิน สีเขียว สีแดง ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ทำให้สูญเสียทัศนียภาพ และทำให้สีของน้ำเปลี่ยนไป
สาหร่ายที่พบในแหล่งน้ำคูเมืองนั้น คือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green algae) ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำที่มีสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อน รวมถึงองค์ประกอบ ทางด้านปัจจัยต่างๆ เช่น แหล่งน้ำที่นิ่ง แสงแดดส่องถึง ทั้งนี้จะเพิ่มปริมาณมากในช่วงอากาศร้อน และจะปลดปล่อยสารพิษออกจากเซลล์ เมื่อแตกและถูกทำลาย ที่มีชื่อว่า Microcystins และ anatoxins
เทศบาลนครเชียงใหม่ จึงต้องกำหนดมาตรการป้องกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในหลายมาตรการ เช่น การควบคุมและบำบัดน้ำทิ้ง การเฝ้าระวังคุณภาพแหล่งน้ำ การใช้มาตรการทางกฎหมาย การสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย การลดปริมาณการใช้สารเคมี การสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการคุณภาพแหล่งน้ำ

เหตุใดเทศบาลจึงลดระดับน้ำและขุดลอกตะกอนดิน ในบริเวณคูเมืองหน้าตลาดประตูเชียงใหม่?
เนื่องจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่กล่าวถึงสามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมได้ โดยจะจมตัวลง และสะสมอยู่ที่ตะกอนดินใต้แหล่งน้ำนั้น และเมื่อใดมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีธาตุอาหารจำพวกสารอินทรีย์จำนวนมาก เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ก็สามารถขยายพันธุ์จำนวนมากพร้อมๆกัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทฟิเคชั่น หรือการเกิดบลูม (Water bloom) นี้ขึ้น เป็นเหตุให้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ต้องเร่งดำเนินการขุดลอกตะกอนดินใต้แหล่งน้ำออกเพื่อลดจำนวน เซลล์ต้นกำเนิดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินให้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคูเมืองหน้าตลาดประตูเชียงใหม่ ที่ตรวจพบว่ามีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินในทุกๆปี
ซึ่งหลังจากการขุดลอกแล้ว จะดำเนินการโรยปูนขาวเพื่อ
1. ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง เนื่องจากการสะสมของไนโตรเจน ทำให้ปัจจุบันดินในบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นกรด จากสภาพความเป็นด่างของปูนขาว (OH-) ที่แตกตัวในดิน คือ Ca(OH)2 = 2Ca+ + 2(OH-)
2. ฆ่าเชื้อโรค เนื่องจากสภาพความเป็นด่างของปูนขาวจะมีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆในดินได้ ร่วมด้วยกับการฆ่าเชื้อจากแสงแดด
นอกจากนี้จะทำการปลูกพืชลอยน้ำ
เพื่อดึง และใช้ธาตุอาหารที่มีในน้ำ เพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ที่มีในแหล่งน้ำให้มีปริมาณลดลง บำบัดน้ำเสีย และรักษาระบบนิเวศในแหล่งน้ำ ตามแนวทางโครงการพระราชดำริบึงมักกะสัน โดยใช้รูปแบบ “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ความตอนหนึ่งว่า “…บึงมักกะสันนี้ ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช…”
โดยรากจะดูดจับตะกอนเพื่อนำสารอาหารมาใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้น้ำบริเวณนั้นใสขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลงไปในน้ำ ทำให้มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำเพิ่มขึ้น รากของพืชน้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเล็กๆ เช่น ปลา หอย ได้อีกด้วย