เชียงใหม่ – เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคารสโมสรแพนด้า สวนสัตว์เชียงใหม่ นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ นายวิทยา สิงห์คำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย โครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย และ สัตวแพทย์หญิง ดร. อัมพิกา ทองภักดี หัวหน้าฝ่ายวิจัย โครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว การผสมเทียมแพนด้า หลินฮุ่ย ประจำปี ๒๕๖๐ ท่ามกลางสื่อมวลชนจำนวนมาก
นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ และ นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ร่วมกันเปิดเผยว่า คณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ รายงานให้ทราบว่า แพนด้า หลินฮุ่ย ปัจจุบันอายุ ๑๖ ปี น้ำหนักตัว ๑๑๘ กิโลกรัม เริ่มแสดงพฤติกรรมการเป็นสัดตามธรรมชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพฤติกรรมการเป็นสัดของ หลินฮุ่ย ยังไม่ชัดเจน แต่สามารถสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของ หลินฮุ่ย ได้
คณะทำงานโครงการวิจัยฯ ซึ่งดำเนินการตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากปัสสาวะของ หลินฮุ่ย เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนมาโดยตลอด พบว่า ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่และทำให้เกิดพฤติกรรมการเป็นสัดเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคมที่ผ่านมา ต่อมาในช่วงวันที่ ๓๐ มกราคม-๒ กุมภาพันธ์ แพนด้า หลินฮุ่ย มีการเดินกระวนกระวายมากขึ้น มีการป้ายกลิ่นด้วยปัสสาวะถี่ขึ้น และเริ่มส่งเสียงร้องแพะเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเสียงที่พบได้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความเข้มข้นสูงสุดในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คณะทำงานโครงการวิจัยฯ จึงติดต่อสอบถามและร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทางการดำเนินการผสมพันธุ์แพนด้ากับผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับคำแนะนำให้มีการให้โอกาส ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย พบกัน และสังเกตพฤติกรรมของแพนด้าทั้งสอง เป็นระยะ ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ช่วงช่วง เรียนรู้พฤติกรรมของ หลินฮุ่ย ในช่วงเป็นสัด และเพื่อสังเกตว่า ช่วงช่วง มีปฏิกิริยาอย่างไร มีความสนใจใน หลินฮุ่ย หรือไม่ อีกทั้งเป็นการทดสอบว่า หลินฮุ่ย มีความพร้อมในการผสมพันธุ์เพียงใด
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า หลินฮุ่ย แสดงการปฏิเสธ ช่วงช่วง โดยแสดงอาการส่งเสียงขู่ แต่ช่วงบ่ายมีการยอมรับ ช่วงช่วง มากขึ้น ซึ่งคณะทำงานลงความเห็นว่า หลินฮุ่ย แสดงอาการเป็นสัดตามธรรมชาติ โดยทีมนักวิจัยฮอร์โมนแพนด้าสรุปผลฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เริ่มลดระดับลงและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่า หลินฮุ่ย น่าจะมีการตกไข่ในเช้าวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ จึงเริ่มกระบวนการเตรียมผสมเทียมให้กับ หลินฮุ่ย ในห้วงเวลาที่เหมาะสม คือ ๒๔-๓๖ ชั่วโมงหลังจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงสุด ต่อมาคณะทำงานฯ ตัดสินใจเก็บน้ำเชื้อและผสมเทียมในช่วงเวลา ๒๐.๓๐ น. ของวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ โดยเริ่มวางยาสลบเก็บน้ำเชื้อ ช่วงช่วง ซึ่งปัจจุบัน อายุ ๑๗ ปี น้ำหนักตัว ๑๓๙ กิโลกรัม ได้น้ำเชื้อสด คุณภาพดี และดำเนินการผสมเทียมให้ หลินฮุ่ย โดยใช้น้ำเชื้อสดที่เก็บได้ พร้อมตรวจสุขภาพของแพนด้าพบว่า แพนด้าทั้งสองตัวมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดี
การดำเนินงานผสมเทียมในช่วงกลางคืนสิ้นสุดกระบวนการในเวลา ๒๔.๐๐ น. และเป็นไปอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ การวางยาสลบและการฟื้นของ ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ได้รับการดูแลจากทีมสัตวแพทย์และทีมพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อนึ่ง ทีมทันตแพทย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมตรวจสุขภาพช่องปากและฟันของ ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย อีกด้วย
องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ ของ ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย โดยจะจัดทำโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติ และจะนำต้นไม้เสริมในส่วนแสดงสำหรับการฝึกปีนป่ายให้แพนด้าออกกำลังกายมาเสริมในส่วนจัดแสดง อีกทั้งจะเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ให้ หลินฮุ่ย อยู่โดยปราศจากความเครียดและการรบกวน โดยจะงดจัดแสดง หลินฮุ่ย ในช่วง ๓-๔ เดือนนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ หลินฮุ่ย มีความเป็นส่วนตัวในระยะตั้งท้อง และทีมงานวิจัยแพนด้า องค์การสวนสัตว์ มีความหวังว่า หลินฮุ่ย จะมีโอกาสให้กำเนิดน้องของ หลินปิง ในปีนี้
พิพัฒน์ ศรีตะวัน ภาพ/ข่าว
More Stories
เปิดความสำเร็จ “Chiang Mai Design Week 2023”ผลักดัน ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อยอดภาคเหนือสู่เมืองสร้างสรรค์ระดับโลก
นายกฯ เศรษฐา ชมการแสดง “ต่อยอดแสงหลวง บวงสรวงมหาเจดีย์ ป๋าเวณียี่เป็ง” ที่ วัดเจดีย์หลวงฯ เชียงใหม่
วิ่งลงตึกสนั่นแผ่นดินไหวรัฐฉาน 6.4 ริกเตอร์ สะเทือนทั่วภาคเหนือของไทย