Single Column Posts

ธันวาคม 30, 2024

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ ฮิลล์คอฟฟ์ ลง MOU ความร่วมมือพัฒนากาแฟและพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด (กาแฟชาวไทยภูเขา) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือต่อการพัฒนากาแฟและพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

วันที่ 1 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด (กาแฟชาวไทยภูเขา) มีนางสาว นฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ  ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือต่อการพัฒนากาแฟและพืชท้องถิ่นบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน โดยมีแขกผู้มีเกียรติ ผู้แทนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชนร่วมเป็นสักขีพยาน

 

ทั้งนี้ ตัวแทนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ได้เข้าร่วมศึกษาโมเดลความร่วมมือนี้ต่อการจัดตั้งเครือข่ายคลัสเตอร์กาแฟอาราบิกาภาคเหนือเพื่อ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

นับเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ในการยกระดับการผลิต การตลาด การเพิ่มมูลค่า และการสร้างคุณค่าของกาแฟอาราบิกา และ         พืชท้องถิ่น ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรภายใต้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม            มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) และการดูแลทรัพยากรบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน  ตลอดจนการส่งเสริมการรับรองพืชจากแหล่งปลูก ผลิตภัณฑ์ชุมชน และผู้ประกอบการ และภายใต้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Forest stamp – ไม่เผา  ไม่บุกรุกป่า  สร้างระบบวนเกษตร ผลิตภัณฑ์ของคนดี )

ทั้งนี้ จะเกิดเป็นโมเดลทดสอบการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของกาแฟอาราบิกาและพืชท้องถิ่นสู่ตลาดด้วยคุณค่าจากภายในพื้นที่ชุมชนและสังคมยอมรับ จากชุมชนเกษตรกรต้นน้ำที่ดูแลนิเวศน์สิ่งแวดล้อม ไปยังระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการแปรรูปใช้ทรัพยากรการเกษตรอย่างรู้ค่าสูงสุด จนไปถึงผู้บริโภคที่ได้ตะหนักรับรู้สนับสนุนสินค้าคุณภาพสู่ความยั่งยืน

          การทำงานสองฝ่ายมีแผนปฏิบัติงานรายพื้นที่อย่างจริงจังร่วมกัน ภาครัฐเข้าช่วยแก้ปัญหาตามความต้องการเฉพาะของพื้นที่ จะมีการทบทวนแผนงาน ปรับปรุง เรียนรู้ไปด้วยกัน

          หากโมเดลนี้เกิดผลตามที่มุ่งหวัง จะเกิดเป็นความได้เปรียบใหม่ด้านการแข่งขันของภาคเกษตรไทยและจะสามารถขยายขอบเขตไปยังภาคเอกชนอื่นที่สนใจ  หน่วยงานนโยบายภาครัฐ ตลอดจนภาคการศึกษา ในการต่อยอดและเชื่อมโยงความร่วมมือได้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป