๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ – นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร แถลงนโยบายการดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปีที่ ๔ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ โดยเปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ประเทศไทยมีการกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือไทยแลนด์ ๔.๐ ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ที่จะมีการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างแนวทางพัฒนาให้ประเทศมีความเจริญ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น ฝนหลวง ๔.๐
สำหรับการปฏิบัติงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรให้ไปสู่ ฝนหลวง ๔.๐ นั้น มีการวิเคราะห์นโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยนำมาสานต่อเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์องค์กรไว้ว่า “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี ๒๕๗๙” โดยน้อมนำแนวทางจากตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมายได้ นอกจากนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จของการไปสู่เป้าหมายการดำเนินงานในครั้งนี้คือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศในระดับนานาชาติ และแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ร้อยละ ๑๐๐ ซึ่งมีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ไว้ ๔ ยุทธศาสตร์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านการบิน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนทั้ง ๓ ยุทธศาสตร์แรก ในการดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นฝนหลวง ๔.๐ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาองค์กร ๔ ด้าน ให้เป็น 4 Smart ได้แก่
๑. Smart Rainmaking service คือ การทำฝนให้ถูกที่ ถูกเวลา ซึ่งจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ
๒. Smart office คือ หน่วยงาน สำนักงาน สามารถรองรับเทคโนโลยี ความทันสมัย ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการได้ ซึ่งจะต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานในสิ่งที่จำเป็นทั้งหมด และระบบการติดตั้งเพื่อรองรับเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการพัฒนาสถานที่ทำงานให้มีความพร้อมด้วยเช่นกัน
๓. Smart officer คือ บุคลากรจะต้องมีความพร้อม ความรู้ ความชำนาญ และมีการทำงานเป็นมืออาชีพ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับการพัฒนาบุคลากร การวางโครงสร้าง เพื่อให้พร้อมรองรับการเป็น ฝนหลวง ๔.๐
๔. Smart management คือ การบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านวิจัย งานวิทยาศาสตร์ โดยจัดตั้ง War room เพื่อการบริหารจัดการที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และสามารถเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ได้
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว: วีระเดช คชเสนีย์
ผู้เรียบเรียง: วีระเดช คชเสนีย์
แหล่งที่มา: สำนักข่าว
(http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNSOC6001250010103)
More Stories
ผบช.ภ.5 มอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชน ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
เชียงใหม่ พร้อมจัดงานหกรรมไม้ดอกไม้ประดับประจำปี 2567 วันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ นี้
มท.1 ตรวจเยี่ยมการให้บริการของสถานบริการใน จ.เชียงใหม่ ที่มีสิทธิเปิดให้บริการได้จนถึงตี 4