ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาในหลากหลายประเทศทั่วโลก ต่างประสบปัญหาของภาวะเศรษฐกิจซบเซา การตระหนักถึงต้นทุนทรัพยากรทางธรรมชาติและแรงงานต้นทุนต่ำที่เริ่มจะขาดแคลนจากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก ทำให้หลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปรับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยใช้เศรษฐกิจเชิงความคิดสร้างสรรค์ หรือ ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มาประยุกต์ใช้ ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้ต้นทุนจากองค์ความรู้เดิม ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาต่อยอดและเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ผ่านการสนับสนุนระบบนิเวศสร้างสรรค์ทั้งบุคลากร ธุรกิจและด้านพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ผ่านโครงการต่าง ๆ โดยหนึ่งในเทศกาลฯ ประจำปีของ CEA ได้แก่ เทศกาลงานออกแบบสร้างสรรค์ (CEA’s Design Festivals)
โดยเทศกาลฯ ล่าสุด กับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2566” หรือ “Chiang Mai Design Week 2023” ครั้งที่ 9 ได้ปิดฉากไปอย่างสวยงาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยตลอดการจัดงานทั้ง 9 วัน ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่ ซึ่งจัดกิจกรรมทั้งหมดกว่า 238 โปรแกรม โดยนักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน นักดนตรี และนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขา กว่า 100 คน มีผู้เข้าร่วมเทศกาลฯ กว่า 181,553 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 294 ล้านบาท นอกจากนี้การจัดงานที่กระจายพื้นที่จัดทั้ง 77 จุดจัดแสดง ยังทำให้ผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ของเมืองเชียงใหม่ จุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจให้กับพื้นที่นั้น ๆ ผ่านการใช้สินทรัพย์ของเมืองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการต่อยอดสินทรัพย์และผลผลิตทางวัฒนธรรมเดิมที่มีมาอย่างยาวนานและเริ่มที่จะสูญหายมาสร้างให้เกิดมูลค่าทางความคิดสร้างสรรค์ (Value Creation) ผนวกกับงานออกแบบที่ร่วมสมัยของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ร่วมกับช่างฝีมือ/ศิลปิน และสล่าในท้องถิ่น นำเสนอดีเอ็นเอของเชียงใหม่ได้อย่างร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่สวยงาม ทั้งอาหารท้องถิ่น (Local Food) งานฝีมือหัตถกรรมต่าง ๆ (Craft) งานออกแบบ (Design) และดนตรี (Music) ตามแนวคิด ‘Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ในปีนี้ กระตุ้นรายได้การท่องเที่ยว สู่การเป็นทรัพยากร Soft Power ของประเทศไทย พร้อมดึงดูดคนสร้างสรรค์จากทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมชมจังหวัดเชียงใหม “Chiangmai Design Week” สร้าง ‘Springboard’ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคเหนือ
ดร. ชาคริต พิชญางกูล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่’ (Chiang Mai Design Week) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างเทศกาลฯ รวมเป็นจำนวนสูงถึง 3,352 ล้านบาท โดยเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และศักยภาพของนัก
สร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการเป็นเมืองที่ชูมรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือ ที่ได้รับการยอมรับเป็นเมืองสร้างสรรค์ ในสาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN)
“เทศกาลฯ ในปี 2023 นี้จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้เกิดการสร้างงาน การสร้างธุรกิจใหม่ การสร้างสรรค์ การออกแบบที่ทันสมัย ต่อยอดการค้าการลงทุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงในท้องถิ่นด้วยการใช้มูลค่าทางความคิดสร้างสรรค์ โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 294 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมเทศกาลฯ กว่า 181,553 คน”
“Chiang Mai Design Week 2023” ต่อยอดงานออกแบบที่ร่วมสมัยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตชุมชน
เทศกาลฯ จัดอยู่ใน 2 พื้นที่หลัก เริ่มตั้งแต่ย่าน ‘กลางเวียง’ ที่ต้อนรับด้วยการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมสู่วิถีแห่งความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงานหัตถกรรมร่วมสมัย (Design Showcases) เวิร์กช็อปงานภูมิปัญญาพื้นบ้าน สู่ตลาดหัตถกรรมของผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ (Pop Market) การแสดงดนตรีของศิลปินท้องถิ่น หรือดนตรีเชียงใหม่เปิดหมวก (Chiang Mai Busking) ที่กระจายตัวบรรเลงเสียงเพราะ ๆ ไปจนถึงหลากหลายผลงานออกแบบแสงสว่าง (Interactive Lighting) อันตื่นตาตื่นใจให้ผู้คนแวะเวียนมาชมกันอย่างเพลิดเพลิน
ส่วนย่าน ‘ช้างม่อย-ท่าแพ’ ถูกเติมเต็มความสนุกปลุกพลังสร้างสรรค์ด้วยโปรเจ็กต์ทดลองความเป็นไปได้ใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในย่านสร้างสรรค์ กับกิจกรรมพิเศษที่เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจสร้างสรรค์และนักสร้างสรรค์ประจำย่านรังสรรค์มาให้สนุกสนานกันแค่ปีละครั้ง นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมอีกหลายหลาก
ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร งานหัตถกรรม งานออกแบบ งานดนตรีและศิลปะ ให้ทุกคนร่วมกันมองหาโอกาสใหม่ (New Opportunities) ในการพัฒนาระบบนิเวศน์สร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม โดยกิจกรรมไฮไลต์ที่ยังจัดอยู่คือ นิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ (Everyday Contem) นิทรรศการที่พยายามค้นหาทางเลือกในการฟื้นชีวิตชีวาแก่หัตถกรรมของช่างฝีมือในเชียงใหม่และภาคเหนือ ให้มีความร่วมสมัยและสอดรับไปกับวิถีชีวิตของผู้คน จากการพาไปสำรวจแนวคิดจากประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการนำศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิม มาพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันล้ำสมัยอย่างญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนิยามใหม่ให้กับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน “มิงเก” (Mingei) หรือการเปรียบเทียบข้าวของเครื่องใช้ในยุคโชวะอย่าง “มิงกู” (Mingu) กับผลิตภัณฑ์จากแบรนด์สินค้าที่ครองใจคนทั้งโลกในปัจจุบันอย่าง “มูจิ” (Muji) ควบคู่ไปกับการจัดแสดงผลงานและแนวคิดเบื้องหลังการ
สร้างสรรค์แบบคนญี่ปุ่น โดยนิทรรศการนี้จัดถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ TCDC เชียงใหม่
“Chiang Mai Design Week 2023” ยังมีเป้าหมายจะเป็นสะพานเชื่อมผู้คนต่างวัยเข้าหากัน ดึงคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เติบโตอย่างสร้างสรรค์ และตัวเทศกาลฯ ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในภาคเหนือ ส่งเสริมให้เมือง ‘น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว’ นำไปสู่การเชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือ สู่การขับเคลื่อน ‘เมืองสร้างสรรค์’ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิดหน้าชูตาในเวทีโลกต่อไป
แล้วมาร่วมเฉลิมฉลองด้วยกันอีกในปีหน้ากับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” ระหว่างวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 ในวาระครบรอบ 10 ปี ของเทศกาลฯ กับการเฉลิมฉลองพลังสร้างสรรค์จากท้องถิ่นอย่างยิ่งใหญ่ไปพร้อมกัน
More Stories
นายกฯ เศรษฐา ชมการแสดง “ต่อยอดแสงหลวง บวงสรวงมหาเจดีย์ ป๋าเวณียี่เป็ง” ที่ วัดเจดีย์หลวงฯ เชียงใหม่
วิ่งลงตึกสนั่นแผ่นดินไหวรัฐฉาน 6.4 ริกเตอร์ สะเทือนทั่วภาคเหนือของไทย
สำนักงานพัฒนาพิงคนคร ลง (MOU) กับ ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่