มช. เปิดงาน “Digital Marketer Hackathon 2023”

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. เปิดงาน “Digital Marketer Hackathon 2023” Go Global with Cross Border E-Commerce Platform โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม 

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เป็นประธานเปิดงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยมี นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ Mr. Wu Zhiwu กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน Mr. Shen Sunan ประธานกรรมการ ASEAN Innovation and Development Promotion Association สาธารณรัฐประชาชนจีน รศ. ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง  ผศ. ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. เข้าร่วมงานในครั้งนี้ 

ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวแสดงความยินดีในพิธีเปิดงานผ่านการบันทึกคลิปวีดิทัศน์ โดยได้กล่าวไว้ว่า “โครงการนี้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ โดยไม่เพียงเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในด้านการส่งออก แต่ยังตั้งใจที่จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจผ่านทางนวัตกรรมและการเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ประกอบการ การค้าขาย การลงทุน และการบริการ”

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวต้อนรับ กล่าวแสดงความยินดีในการเป็นพยานความร่วมมือทางวิชาการของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล กับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการส่งส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับนานาชาติและในด้านการวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคปัจจุบันที่สังคมโลกถูกเชื่อมโยงด้วยการสื่อสารที่รวดเร็ว

ถัดมา ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวแสดงความยินดีและกล่าวเปิดโครงการ กล่าวว่า “ผมดีใจที่ได้ร่วมงานกับ ICDI อีกครั้ง ซึ่งเราเคยร่วมงานกันในโครงการศึกษานโยบายสำหรับ “ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม Route 1” จากการศึกษาครั้งนั้น เราพบศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย และวันนี้เราก็เข้าใกล้ศักยภาพที่ยิ่งใหญ่นั้นมากขึ้น ด้วยการเริ่มต้นโครงการนี้” 

จากนั้น เป็นการกล่าวแสดงความยินดีโดยแขกผู้มีเกียรติตามลำดับ 

นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “เชื่อมั่นว่าโครงการของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า การลงทุนของธุรกิจ SME ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเกิดการกระจายรายได้หมุนเวียนต่อไป”

Mr. Wu Zhiwu กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ 7 สำหรับกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) LMC เป็นพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐิจสูงสุด แม้จะต้องเผชิญช่วงเวลายากลำบากจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 การค้าขายระหว่างประเทศจีน กับประเทศกลุ่ม LMC มีขนาดอยู่ที่ 3900 ล้านดอลล่าห์ ในปี 2021 ซึ่งโตขึ้นจากปี 2020 ถึง 105% ประเทศจีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของสี่ประเทศสมาชิกใน LMC ในฐานะผู้ริเริ่ม ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมกับโครงการ CBEC อย่างมาก ทั้งในด้านการเกษตร สาธารณสุข การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการค้าขายความชายแดน การนำนักศึกษามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ จะเพิ่มโอกาสเติบโตของโครงการนี้ไปอีกระดับ นอกจากนั้น การเยี่ยมเยือนประเทศไทยครั้งล่าสุดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ยังได้บรรลุข้อตกลงเรื่องการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงทางการขนส่งโดยเฉพาะระบบราง ที่จะเป็นอนาคตของโครงการอีกด้วย” 

นางสาวนภัสพร ภัทรชีวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า “ในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าวได้ร่วมมืออันดีในหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ส บ้านพี่เมืองน้อง และข้อตกลงทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยชิงต่าว จังหวัดชางดงมีประชากรกว่าร้อยล้านคน สิบล้านคนอยู่ในเมืองชิงต่าว ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการทำอีคอมเมิร์ส ซึ่งมีตัวอย่างของธุรกิจ SMEs ที่ประสบความสำเร็จให้เห็นมากมาย การสร้างศูนย์ RCEP และเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจีน เวียดนาม และลาว ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีร่วมกันของชางดงและประเทศสมาชิก LMC

Mr. Shen Sunan ประธานกรรมการ ASEAN Innovation and Development Promotion Association สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า “การส่งเสริมนักศึกษาและผู้ประกอบการเข้ามาในโครงการ CBEC ช่วยโปรโมทความเป็นเลิศในการฝึกทักษะซื้อขายในระดับนานาชาติ การก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม ล้านช้าง-แม่โขง ทำให้เกิดการต่อรองร่วมมือในระดับนานาชาติและระหว่างชาติสมาชิกเพื่อสร้างความเชื่อมโยงและนวัตกรรม ที่ขับเคลื่อนโดยตลาดขนาดใหญ่ของผู้บริโภค เราคาดหวังว่าจะการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ สินค้าดิจิทัล การบริหาร ความรู้ และข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จตลาดแห่งนี้ เราจึงหวังว่านักศึกษาทุกท่านจะใช้โอกาสนี้อย่างคุ้มค่า ได้ลองผิดลองถูก ลองสิ่งใหม่ๆ ท้าทายศักยภาพของตนเอง และเติบโต”

รองศาสตราจารย์ ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง กล่าวปิดท้ายว่า “ผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้าน E-commerce ที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีทิศทางที่ดีมาก และเกิดประโยชน์กับสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่เราจะขยายเครือข่ายและความร่วมมือในระดับนานาชาติ การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อที่ทั่วถึงโดยระบบรางที่ดีเป็นปัจจัยหลักเพื่อที่จะให้การริเริ่มนี้ประสบความสำเร็จ การขนส่งทางรถรางได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโหมดการขนส่งทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงและดีต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานในภูมิภาคทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติต้องร่วมมือกันโปรโมตการขนส่งทางราง โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศสมาชิก กระทรวงคมนาคมได้สร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบรางเพื่อตอบโจทย์ในทุกแง่มุมของการเร่งการสร้างระบบรางที่สมบูรณ์ในภูมิภาค เราจะทำให้มั่นใจว่าทางสถาบันวิจัยจะร่วมมือและสนับสนุนโปรเจค CBEC `อย่างเต็มที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะในการส่งต่อองค์ความรู้และโครงการวิจัยต่างๆ” 

ภายในงาน ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับหอการค้าและมหาวิทยาลัยพันธมิตรในกลุ่มความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคของกลุ่มประเทศ CLMVT และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมุ่งหวังผลักดันให้เกิดการค้าขายสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากกองทุนแม่โขง-ล้านช้าง มุ่งหวังการสร้าง Startup ใหม่จากทีม Digital Marketer ทำธุรกิจการค้างทางอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างความร่วมมือในคนรุ่นใหม่ข้ามพรมแดน จีน ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และกล่าวว่า “เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน คือการสร้างฐานความรู้ด้านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน ซึ่งจะเป็นต้นแบบช่องทางการตลาด ที่จะทำให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด”

อาจารย์ ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล และผู้เชี่ยวชาญด้าน Cross Border E-Commerce ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่นักการตลาดดิจิทัลและผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำสินค้าจากไทย และกลุ่มประเทศ CLMV ไปขายที่จีนผ่าน Cross Border E-Commerce Platform โดยตั้งเป้าการขนส่งไปทางราง ผ่านรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน ซึ่งเร็วและทำให้ประหยัดค่าขนส่งขึ้น จากการทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับ Cross Border E-Commerce ของวิทยาลัยฯ พบว่า ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น กลุ่ม SMEs และ OTOP ไม่ประสบความสำเร็จในการนำสินค้าไปขายผ่านช่องทาง Cross Border E-Commerce ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การสื่อสารเป็นภาษาจีน ระบบการจ่ายเงิน ดังนั้น ในโครงการนี้เราจึงมีเป้าหมายในการสร้าง Digital Marketer จำนวน 50 ทีม ประกอบไปด้วยนักศึกษาจีนที่มาเรียนในประเทศไทย จับคู่กับนักศึกษาไทยและ CLMV มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยผู้ประกอบการนำสินค้าขึ้นไปขายบน Cross Border E-Commerce Platform โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมในหลักสูตรด้าน Social Commerce, Marketing  การเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการ ความรู้ด้าน Cross Border E-Commerce Platform ที่สำคัญ เป็นประสบการณ์ของเด็กรุ่นใหม่ให้ทำธุรกิจจริง เติบโตเป็น Startup และยังมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลากิจกรรม โดยทีมที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะ 10 ทีม จะได้รับเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท 

ติดตามข้อมูลโครงการได้ที่ https://cbec.icdi.cmu.ac.th/Home.aspx