ททท. หารือผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลังโควิด ๑๙ พร้อมมอบตราสัญลักษณ์ “SHA”แก่ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านเกณฑ์
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ณ ห้องล้านนาบอลรูม ๑ โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมหารือการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ พร้อมมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) แก่ผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๒๕๐ ราย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกับ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยว โดย ททท. มีแผนดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภาคการท่องเที่ยวหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ให้กลับมาสร้างรายได้และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในประเทศได้โดยเร็ว ซึ่งยังให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ (New Normal) เน้นความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงได้จัดการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานตามโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble) รวมถึง จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่
ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. ร่วมกับ กระทรวงการคลัง ผุดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว “เที่ยวปันสุข” ประกอบด้วย แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน กรอบวงเงิน ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท และแพ็กเกจกำลังใจ กรอบวงเงิน ๒,๔๐๐ ล้านบาท รวมทั้งสิ้น ๒๒,๔๐๐ ล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม ๒๕๖๓ ดำเนินการโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. ร่วมกับ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน เป็นการฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการสนับสนุนค่าที่พักและ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ในอัตราร้อยละ ๔๐ ของค่า ที่พัก แต่ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ต่อห้องต่อคืน ในการเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมและโฮมสเตย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะได้รับ E-Voucher คืนละ ๖๐๐ บาท ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในลักษณะร่วมจ่ายเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนการใช้จ่ายในอัตราร้อยละ ๔๐
ในส่วนของสายการบิน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินบางส่วนในลักษณะการจ่ายคืน (Redeem) สำหรับผู้จองที่พักที่เดินทางโดยสายการบิน โดยผู้จองที่พักจะต้องดำเนินการจองและชำระค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเต็มจำนวนผ่านทางเว็บไซต์ของสายการบิน และรัฐบาลจะจ่ายเงินคืนในอัตราร้อยละ ๔๐ ของค่าบัตรโดยสาร แต่ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทต่อที่นั่ง เข้าสู่แอปพลิเคชั่นเป๋าตังของผู้จองที่พัก ภายหลังการเช็คเอาท์ สามารถนำไปใช้จ่ายหรือถอนเงินสดได้โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลา
แพ็กเกจกำลังใจ เป็นการขอบคุณ อสม.,อสส., และ รพ.สต.ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละในการทำงานอย่างหนักและเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ ได้ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไม่เกินคนละ ๒,๐๐๐ บาท สำหรับการเดินทาง ๒ วัน ๑ คืน โดยทั้งสองแพ็กเกจสามารถใช้สิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เที่ยวปันสุข.ไทย และ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ สำหรับประชาชนทั่วไปจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ส่วนแพ็กเกจกำลังใจ เปิดให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวลงทะเบียนผ่าน www.เที่ยวปันสุข.ไทย เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา สำหรับ อสม.,อสส., และ รพ.สต. สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และเดินทางท่องเที่ยวได้ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคให้เติบโต และทำให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อไป
ภายหลังจากการประชุมฯ ททท. จัดพิธีมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน ๒๕๐ ราย จาก ๑๐ ประเภทกิจการ โดยมี ผู้ว่าการ ททท. และ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีมอบฯ สำหรับผู้ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA ททท. จะประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว
ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ททท. จะเป็นผู้ควบคุมการออกตราสัญลักษณ์โดยการระบุหมายเลขของตราสัญลักษณ์ SHA ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลรายชื่อ ซึ่งมีอายุ ๒ ปี และหากพบว่าผู้ประกอบการไม่สามารถรักษามาตรฐาน SHA ได้ ในเบื้องต้นจะแจ้งให้ผู้ประกอบการพัฒนาและปรับปรุง หากยังไม่สามารถรักษามาตรฐานได้ก็จำเป็นต้องเพิกถอนตราสัญลักษณ์ และตัดรายชื่อออกจากฐานข้อมูล SHA นอกจากนี้ ททท. เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ช่วยตรวจสอบสถานประกอบการหรือกิจการที่ได้รับสัญลักษณ์ SHA อีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นเสียงสะท้อน (Voice of Customers : VOC) จากการใช้บริการ
ผู้ว่าการ ททท. กล่าวทิ้งท้าย ขอเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สามารถศึกษาแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐาน SHA ได้ที่ https://thailandsha.tourismthailand.org/ebook และสมัครขอรับการตรวจและรับตราสัญลักษณ์ SHA ได้ที่ www.tourismthailand.org/thailandsha สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ thailandsha@gmail.com หรือ Line Official : @thailandsha และ ๑๖๗๒ เพื่อนร่วมทาง
More Stories
จังหวัดลำพูนแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมชาติพันธุ์ลำพูน ประจำปี 2567
งานมหัศจรรย์เส้นทางวัฒนธรรมอาหารเมืองรอง
TAGTHAi ซิตี้พาสใบแรกเชียงใหม่ กิน เที่ยว ครบ จบในบัตรเดียว