เชียงใหม่-วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สนง.ภาคเหนือ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สนง.ภาคเหนือ คุณนวอร เดชสุวรรณ์ ได้แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เหตุ ภาวะเศรษฐกิจ ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงจากผลกระทบของปัญหาฝุ่นละอองในช่วงต้นไตรมาส การบริโภคภาค เอกชนเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันเป็นหลัก รายได้เกษตรกรหดตัวตามผลผลิตโดยเฉพาะอ้อยที่เร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในไตรมาสก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงตามวัตถุดิบทางการเกษตรและความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว การใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากรายจ่ายประจำหลังจากเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวตามราคาอาหารสด
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ ดังนี้
รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ 14.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากด้านผลผลิตที่หดตัวร้อยละ 17.2 ตามผลผลิตอ้อยโรงงานที่ลดลงมากเพราะได้เร่งเก็บเกี่ยวในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยโรงงานรวมทั้งฤดูกาลมีปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ผลผลิตข้าวลดลงจากเกษตรกรส่วนหนึ่งหันไปปลูกพืชอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนทางด้านราคาขยายตัวร้อยละ 3.1 เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นตามความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ ประกอบกับราคาปศุสัตว์ ทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขยายตัวต่อเนื่องเพราะผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.7 โดยหมวดอาหารลดลงจากการผลิตน้ำตาลตามปริมาณอ้อยที่ลดลงหลังจากเร่งเข้าหีบในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การผลิตผักผลไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์แป้งและเส้น การผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องประดับ และเยื่อกระดาษ ลดลงตามความต้องการจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องดื่มยังขยายตัว
ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวชะลอลง จากผลกระทบของปัญหาฝุ่นละอองในช่วงต้นไตรมาส โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวไทยที่ชะลอลงมาก อย่างไรก็ดี นักท่องท่องเที่ยวสัญชาติอื่นที่ยังขยายตัวดีในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป เอเชีย (ไม่รวมจีน) เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ทำให้ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังขยายตัวได้ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าใช้ในชีวิต ประจำวันที่ขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะในหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และหมวดอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยพยุงกำลังซื้อในกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ด้านการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนหดตัวเล็กน้อยตามยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ลดลงมาก ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวเล็กน้อยจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.4 โดยการลงทุนในภาคก่อสร้างยังลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกันในทุกเครื่องชี้สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในกลุ่มอาคารพาณิชย์และโรงแรม ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และยอดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การลงทุนเพื่อการผลิตหดตัวตามการนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ได้นำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
การใช้จ่ายภาครัฐ ลดลงร้อยละ 10.0 จากรายจ่ายประจำที่ลดลงร้อยละ 21.9 ตามเงินอุดหนุนของสำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ได้เร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงต้นปี ส่วนการใช้จ่ายงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวง จากโครงการก่อสร้าง บูรณะถนนและสะพานข้ามทาง รวมทั้งของกรมชลประทานตามโครงการก่อสร้างปรับปรุงแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ ทางด้านอัตราการเบิกจ่ายของรายจ่ายรวมสะสมโดยไม่รวมงบกลาง (ต.ค. 61 – มิ.ย. 62) อยู่ที่ร้อยละ 71.1 ต่ำกว่าเป้าหมาย
การค้าผ่านชายแดน มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยลดลงตามการส่งออกไก่แช่แข็ง เนื่องจากผู้ประกอบการเปลี่ยนช่องทางส่งออกเพื่อประหยัดต้นทุน รวมทั้งโคมีชีวิตและน้ำตาลที่ลดลงตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ส่วนมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ตามการนำเข้าสินค้าเกษตรจากเมียนมาเป็นสำคัญ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ด้านอัตราการว่างงานปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ด้านการจ้างงานลดลงตามการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตร
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจมียอด เงินฝากรวม 1,219.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อทดแทนเงินฝากที่ครบกำหนด ประกอบกับเงินของภาครัฐฝากพักไว้ก่อนเบิกไปใช้จ่าย ทางด้านสินเชื่อมียอดคงค้างรวม 1,325.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งสินเชื่อเพื่อการเกษตรและเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
More Stories
พลิกโฉมใหม่ “เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต” ยกระดับยิ่งใหญ่กว่าเดิม
เปิดตัว TCL ทีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 115 นิ้ว ครั้งแรกในภาคเหนือที่ จ. เชียงใหม่
บิ๊กซี ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ จัดแคมเปญ“ฉลองมหาสงกรานต์ เติมความสุขที่บิ๊กซี”