Single Column Posts

มกราคม 2, 2025

สดร. เผยหลายพื้นที่เฮ !! ได้ชม “จันทรุปราคาบางส่วน” เหนือฟ้าหน้าฝน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เช้ามืดวันที่ 8 สิงหาคม 2560 บันทึกภาพโดยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เมื่อเวลาประมาณ 1.12 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าดวงจันทร์เต็มดวงมีลักษณะเว้าแหว่ง รวมถึงความสว่างของดวงจันทร์ลดลงเล็กน้อย แม้จะเป็นช่วงหน้าฝนแต่หลายจังหวัดของไทยสามารถสังเกตได้ในหลายพื้นที่
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 00:23 น. ของวันที่ 8 สิงหาคม ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงค่อย ๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุดประมาณร้อยละ 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ ในเวลาประมาณ 01.21 น. จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 02.19 น. ดวงจันทร์กลับมาปรากฏเต็มดวงอีกครั้ง รวมเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนานเกือบ 2 ชั่วโมง สามารถสังเกตได้ในยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ทางตะวันออกในอเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และแอนตาร์กติกา ในไทยสามารถสังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บรรยากาศการเฝ้าชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เป็นไปอย่างคึกคักทั่วประเทศ จังหวัดที่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาบางส่วน ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ระยอง สุพรรณบุรี อุบลราชธานี ภูเก็ต ตรัง ขอนแก่น กระบี่ พังงา ชลบุรี กำแพงเพชร เป็นต้น ขณะที่อีกหลายจังหวัดของไทยมีฝนตกหนัก และมีเมฆหนาสภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย ได้แก่ ลพบุรี หาดใหญ่ ยะลา เบตง เพชรบุรี บุรีรัมย์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง อยุธยา นครปฐม ชัยนาท สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบูรณ์ เชียงราย สกลนคร ฯลฯ

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกแค่บางส่วน เรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นจันทรุปราคาแบบเต็มดวงและสามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทย

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: pr@narit.or.th Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313