รัฐบาลพอใจประชาชนตอบรับพร้อมเพย์ดี หลังเปิดบริการพร้อมกัน ๒๗ ม.ค. ชี้โอนเงินสะดวกรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ช่วยยกระดับศักยภาพการเงินประเทศ ย้ำมีระบบรักษาความปลอดภัยรัดกุม

๓๐ มกราคม ๒๕๖๐พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลเปิดให้บริการพร้อมเพย์ หรือการโอนและรับเงินแบบใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เช่น โอนเงินได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา เพียงใส่หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชนที่ลงทะเบียนกับพร้อมเพย์ไว้ เป็นต้น
“ส่วนดีของพร้อมเพย์คือ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมตามปกติ แม้จะโอนต่างธนาคาร เช่น โอนเงินครั้งละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม, โอนเงินตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท จ่ายค่าธรรมเนียม ๒ บาท, โอนเงินตั้งแต่ ๓๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จ่ายค่าธรรมเนียม ๕ บาท, และโอนเงินตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป จ่ายค่าธรรมเนียม ๑๐ บาท เป็นต้น โดยธนาคารอาจมีการแข่งขันให้ค่าธรรมเนียมถูกลงได้อีก จึงอยากให้ประชาชนลงทะเบียนพร้อมเพย์ที่ธนาคารที่ตนเองมีบัญชีอยู่หรือผ่านระบบออนไลน์ก็ได้”
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลในเรื่องความปลอดภัยนั้น ธนาคารมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าและความเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์อย่างรัดกุมตามแนวทางปฏิบัติของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ระบบกลางก็มีความปลอดภัย เพราะพัฒนาจากระบบโอนเงินที่เป็นระบบปิด บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ลงทะเบียนได้เพราะไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตสู่ภายนอก อีกทั้งยังออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบชำระเงินจากต่างประเทศที่มีแผนรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งผู้โอนเงินต้องมี Username และ Password ส่วนผู้รับเงินจะนำเงินออกมาใช้ได้ก็ต้องทำธุรกรรมตามปกติ
“พร้อมเพย์ยังมีประโยชน์มากสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะ SMEs และ e-commerce เพราะผู้ซื้อเพียงรู้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ขายก็สามารถโอนเงินได้ทันที ไม่ต้องถือเงินสด ไม่ต้องจำเลขบัญชีธนาคาร ประหยัดค่าธรรมเนียม ช่วยลดต้นทุนการบริหารเงินสดของธนาคาร ลดต้นทุนของประเทศในการโอนเงินได้ปีละ ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ง่ายต่อการจัดเก็บภาษี ลดปัญหาคอร์รัปชัน และช่วยให้รัฐมีฐานข้อมูลสำหรับใช้ติดต่อประชาชนทุกกลุ่มจากการเชื่อมโยงหมายเลขโทรศัพท์ เลขบัญชีธนาคาร และเลขประจำตัวประชาชน เพื่อจัดสวัสดิการให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้สูงวัย เป็นต้น”
วันที่ ๑ มีนาคมที่จะถึงนี้ จะเริ่มเปิดให้นิติบุคคลลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ และเริ่มให้บริการโอนเงินได้ทันที รวมทั้งจะเริ่มให้มีการใช้ใบกำกับภาษี (e-Tax Invoice) ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการเงินและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เข้มแข็ง และประชาชนได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว: เอกสารข่าว (สำนักข่าว)

ผู้เรียบเรียง: เพ็ญนภา เข็มตรง
แหล่งที่มา: สำนักข่าว
(http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNPOL6001300010013)