มีนาคม 19, 2024

ภาครัฐประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนนโยบาย สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในงานส่งเสริมการเกษตร

จังหวัดเชียงใหม่เปิดงานประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรและสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในงานส่งเสริมการเกษตร

 

      สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่และสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดงานประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรและสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในงานส่งเสริมการเกษตร ปี 2560 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) และแปลงใหญ่ลำไยคุณภาพ หมู่ 7 ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560  โดยนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ได้กล่าวรายงาน/ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่/นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธาน มีผู้ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และสื่อมวลชนเข้าร่วม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 300 คน

     ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญงานนโยบายภาครัฐ และยึดเป็นภารกิจเร่งรัดที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ การใช้ Agri-Map การผลิตสินค้ามาตรฐาน และส่งเสริมเกษตรทฤษฏีใหม่ เพื่อให้บรรลุนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 1)ผลผลิตมีมาตรฐาน  2)มีตลาดรองรับ 3)ลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 20 และ 4)เพิ่มผลผลิตร้อยละ 20 โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำระบบส่งเสริมการเกษตร (T&V System) มาขับเคลื่อนงานนโยบายภาครัฐ และงานที่กรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบ คือ การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) งานโครงการพระราชดำริ การส่งเสริมการผลิตพืชมาตรฐานระดับ GAPและอินทรีย์ งานสถาบันเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ให้มีประสิทธิภาพ มุ่งผลสัมฤทธิ์ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นหนี้สินลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและภูมิใจในอาชีพเกษตรกร อันจะส่งผลให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขและภูมิใจในอาชีพการเกษตร

ซึ่งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) และแปลงใหญ่ลำไยคุณภาพ หมู่ 7 ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับการผลิตสู่มาตรฐาน GAP และมีเป้าหมายถึงระดับอินทรีย์ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตและมีตลาดรองรับที่แน่นอน จนเกิดเป็นองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้แก่สมาชิกได้นำไปปฏิบัติ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ ทดแทนการใช้สารเคมี การยกระดับคุณภาพผลผลิตด้วยนวัตกรรม การตัดแต่งทรงพุ่ม เพื่อลดค่าแรงงาน การส่งเสริมการตัดแต่งช่อผลเพื่อเพิ่มขนาดผลผลิตลำไยเกรด AA ส่งผลให้ลำไยแปลงใหญ่อำเภอสารภี มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและตลาด

การบริหารจัดการกระบวนการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยพลังประชารัฐ จนเกิด Smart Farmer -Smart Group และ Smart Product สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 20 เพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 20 ยกคุณภาพผลผลิตมาตรฐานระดับ GAP/อินทรีย์ และมีตลาดรองรับที่แน่นอน ตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1)สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2)เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า 3)เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4)บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสุดท้าย 5)พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐเพื่อนำพาเกษตรกรก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และ “2560ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน” ด้วยการปรับเปลี่ยนการผลิตแบบเดิม ๆ สู่การผลิตที่เป็นระบบ มีการวางแผน มีมาตรฐาน และเป็นแบบอย่างในการขยายผลต่อไป

“ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) และเครือข่าย รวมทั้งการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนแบบมีส่วนร่วมและด้วยพลังประชารัฐที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐในพื้นที่ สามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนแก่เกษตรกรและชุมชนได้”