รัฐบาลตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่วนหน้า เร่งบูรณาการช่วยเหลือชาวใต้ พร้อมอพยพผู้ประสบภัย แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม ยา และฟื้นฟูจิตใจ เตรียมอนุมัติเงินช่วยเหลือหากพบความเสียหาย

๗ มกราคม ๒๕๕๙พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลประกาศยกระดับการจัดการปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ ระดับ ๓ โดยจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ส่วนหน้า ขึ้น ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี และเขต ๑๒ สงขลา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่บูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
PNPOL600107001000417_07012017_115728 PNPOL600107001000415_07012017_115728 PNPOL600107001000414_07012017_115728
“ผู้บัญชาการสามารถจัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพลเรือน และภาคประชาสังคม ร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ภาครัฐเร่งดำเนินการทุกเรื่อง ทั้งการอพยพผู้ประสบภัยออกนอกพื้นที่ การจัดสถานที่พักพิงชั่วคราวเพื่อรอน้ำลด การแจกถุงยังชีพ อาหาร น้ำ และยารักษาโรค รวมทั้งการดูแลให้คำปรึกษาด้านจิตใจ”
PNPOL600107001000412_07012017_115728
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้แต่ละจังหวัดกำหนดพื้นที่ที่ประสบภัย พื้นที่เสี่ยงภัย และผู้รับผิดชอบ ให้ชัดเจน เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภาค หน่วยทหารบกและทหารเรือ ให้ระดมเรือ เครื่องยนต์ และรถยกสูง เข้าไปลำเลียงประชาชนที่ติดค้างในบ้านพักให้ออกมาโดยเร็วที่สุด และล่าสุดกองทัพเรือส่งเรือผลักดันน้ำ ๕๐ ลำ ลงไปสนธิกำลังกับทางบกช่วยเร่งระบายน้ำที่จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังจัดหน่วยแพทย์พลเรือนและทหารออกดูแลสุขภาพประชาชน และร่วมกับภาคเอกชนและจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ได้ประสบภัยเข้าไปช่วยสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค และบริจาคอาหารปรุงสำเร็จและยารักษาโรคด้วย
PNPOL600107001000410_07012017_115728 PNPOL600107001000409_07012017_115728 PNPOL600107001000407_07012017_115728
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและวางแผนการช่วยเหลือในระยะต่อไป ซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถอนุมัติเบิกจ่ายเงินทดรองราชการได้ภายในวงเงิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ยังสามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หากมีการร้องขอ เช่น ค่าเครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค เครื่องมือประกอบอาชีพ เครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัว ค่าจัดการศพกรณีมีผู้เสียชีวิต และค่าซ่อมแซมบ้านทั้งหมดหรือบางส่วนตามความจำเป็น เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนราชการที่ช่วยเหลืออยู่แล้ว
PNPOL600107001000406_07012017_115728 PNPOL600107001000405_07012017_115728 PNPOL600107001000403_07012017_115728
สำหรับการเปิดรับบริจาคของหน่วยงานภาครัฐตามที่เป็นข่าวในโซเชียลมีเดียนั้น เบื้องต้นเป็นข้อมูลเก่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลยังสามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม หากมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวจะแจ้งให้สาธารณชนทราบต่อไป

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว: อาทิตยา เจียรวัฒนวงศ์

ผู้เรียบเรียง: อาทิตยา เจียรวัฒนวงศ์

แหล่งที่มา: สำนักข่าว

(http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNPOL6001070010005)