มีนาคม 28, 2024

“ของขวัญแห่งมิตรภาพ: ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา”

สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ จัดบรรยายพิเศษโดย นายเทรเวอร์ เมอร์เรียน หนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ “ของขวัญแห่งมิตรภาพ: ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา 2361-2561”

เชียงใหม่ – เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ จัดบรรยายพิเศษโดย นายเทรเวอร์ เมอร์เรียน (Trevor Merrion) หนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ: ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา 2361-2561ซึ่งเล่าประวัติความเป็นมาของนิทรรศการและวัตถุจัดแสดง ท่ามกลางผู้ร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

สองศตวรรษที่แล้ว กัปตันชาวอเมริกันล่องเรือมาจอดเทียบท่าที่กรุงเทพมหานคร และก่อร่างสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ในโอกาสครบนี้ งานนิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ: ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา 2361-2561 จัดแสดงของขวัญที่ทั้งประเทศแลกเปลี่ยนกัน ทั้งของขวัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทาน ซึ่งหลายชิ้นถูกนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ของขวัญเหล่านี้ไม่เพียงฉายให้เห็นมิตรภาพอันยาวนาน 200 ปี ให้เป็นที่ประจักษ์ แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวของสองประเทศอันไกลโพ้น ที่สานสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยไมตรีจิตและความเข้าใจ

นิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ มี นายเทรเวอร์ เมอร์เรียน และ นายวิลเลี่ยม แบรดฟอร์ด สมิธ เป็นภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ จัดขึ้นเพื่อฉลองวาระครบรอบ 200 ปี ที่ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกาติดต่อกันเป็นครั้งแรก ด้วยการรวบรวมศิลปวัตถุจากสถาบันชั้นนำของทั้งสองประเทศมาจัดแสดง เพื่อตามรอยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาผ่านของขวัญที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานแก่ประธานาธิบดีและที่ประธานาธิบดีทูลเกล้าฯ ถวายตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา โดยจัดแสดงระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 30 มิถุนายนนี้ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นายเทรเวอร์ เมอร์เรียน เป็นภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ “ของขวัญแห่งมิตรภาพ: ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา 2361-2561” และเป็นผู้เขียนหนังสือประกอบนิทรรศการซึ่งบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมา และรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับวัตถุที่จัดแสดงในนิทรรศการ ก่อนหน้าที่จะทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ร่วมของนิทรรศการนี้ เขาเคยเป็นนักวิจัยประจำฝ่ายมานุษยวิทยา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. เป็นเวลา 7 ปี
ผลงานวารสารที่ตีพิมพ์ในช่วงที่เขาทำงานกับสถาบันสมิธโซเนียน ได้แก่ Undiscovered Art from the Korean War: Explorations in the Collection of Chester and Wanda Chang (2557) Turkmenistan: Arts from the Land of Magtymguly (2556) และ Turkmenistan: Ancient Arts Today (2554) เขาเคยเขียนบทความลงในวารสาร Arts of Asia and Arts & Cultures (วารสารของพิพิธภัณฑ์ Barbier-Mueller) และเคยเดินทางไปบรรยายให้กับพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก เช่น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนายุคก่อนประวัติศาสตร์ ลุยจิ ปีโยรินี แห่งชาติ (กรุงโรม) เป็นต้น

พิพัฒน์ ศรีตะวัน / ข่าว
สรวิชญ์ กันธิตระกูลวงค์ /ภาพ