Single Column Posts

ตุลาคม 6, 2024

OTOP Backstreet Academy ส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิปัญญาย่านวัวลาย

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่จัดโครงการโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา OTOP Backstreet Academy จังหวัดเชียงใหม่ย่านวัวลาย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคลังภูมิปัญญาเพื่อรวบรวมเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP  อีกทั้งยังส่งผลต่อการดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้คงอยู่ในชุมชน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแลหวงแหนภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง รวมถึงเป็น  การเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น  เพื่ออนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเสริมสร้างประสบการณ์ในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์    เพื่อพัฒนาทรัพยากรของชุมชนให้มีคุณค่า สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน สามารถจูงใจให้บุคคลทั่วไป ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และท่องเที่ยวในหมู่บ้าน

โดยวันที่10และ11 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว ,สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยว เยี่ยมชมและทดลองทำงานฝีมือภูมิปัญญาล้านนา ย่านวัวลาย โดยเริ่มจากการเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยว การทำเครื่องเงินชุมชนศรีสุพรรณ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีการทดลองทำการต้องลายขึ้นรูป ซึ่งชุมชนศรีสุพรรณมีความโดดเด่นเรื่องนี้ ทำให้เกิดอุโบสถเงินหลังแรกในโลกและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมของเชียงใหม่

การเยี่ยมชมวัดหมื่นสารและศึกษาประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่นที่รวบรวมเรื่องราวสมัยสงครามโลกรวมถึงความรู้พื้นบ้านเรื่อง”ตุงล้านนา”โดยมีวิทยากรผู้มีความรู้ให้คำแนะนำและทดลองทำ

เครื่องเขินวิชัยกุล ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของย่านวัวลายที่สืบทอดกันมากว่า200ปี ในชุมชนนันทาราม โดยมีปราชญ์ชาวบ้านที่คอยให้ความรู้และทดลองทำ ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนรวมในการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้หายไปและ หวงแหนภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างการเติบโต จากภายในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนให้ชุมชนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน โดยมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และ ภาคประชาชน ผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP  ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยรัฐพร้อมที่จะสนับสนุนให้ชุมชน เข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุน และพัฒนา   ขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการตลาด เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่า และเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย