มีนาคม 29, 2024

คณะแพทยศาสตร์ มช. ประสบความสำเร็จการปลูกถ่ายตับ ในการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย

คณะแพทยศาสตร์ มช. พัฒนาการปลูกถ่ายตับ ในการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย โรคตับวายเฉียบพลันรุนแรง และมะเร็งตับ ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ช่วยผู้ป่วยให้กลับมามีชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพขึ้นอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันวิวัฒนาการของการปลูกถ่ายตับได้พัฒนาแพร่หลายไปอย่างมาก อัตราการอยู่รอดหลังผ่าตัดโดยเฉลี่ยในระยะ 5 ปี มีมากกว่าร้อยละ 80 และมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่ลดลง


ผศ.นพ. สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมระบบตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแพทย์ของประเทศไทยมีพัฒนาการก้าวไกลเทียบเท่านานาอารยประเทศ โดยเฉพาะการให้การรักษาผู้ป่วยโรคตับ การปลูกถ่ายตับ ถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย ผู้ป่วยหลายรายรอดชีวิต และสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อีกครั้ง การปลูกถ่ายตับ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง เสียสละจากทุกๆฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริจาคอวัยวะ ผู้ป่วยและครอบครัว ทีมบุคลากรทางการแพทย์ สาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ เช่น ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับ วิสัญญีแพทย์ปลูกถ่ายตับ อายุรแพทย์โรคตับ อายุรแพทย์โรคไต กุมารแพทย์โรคตับ รังสีแพทย์ ร่วมให้การรักษา มีการใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีมากมายในการดูแล ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด

การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ คือการผ่าตัดเอาตับเดิมออก แล้วทำการเปลี่ยนตับใหม่แทน โดยตับใหม่ได้มาจาก 2 วิธี ได้แก่ วิธีแรก เมื่อได้รับบริจาคตับจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งปัจจุบันอัตราผู้บริจาคอวัยวะมีน้อย ผู้ป่วยตับวายระยะสุดท้ายจึงเสียชีวิตไปในระหว่างรอรับบริจาคตับเป็นจำนวนมาก วิธีที่สอง รับบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ซึ่งเป็น บุคคลภายในครอบครัว หรือญาติพี่น้องที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด หรือคู่สมรส จะช่วยลดอัตราการตายจากการรออวัยวะของผู้รับบริจาค และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลงได้มาก เนื่องจากผู้รับบริจาคอวัยวะสามารถได้ตับมาเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตับเป็นอวัยวะที่งอกได้ หากตับถูกตัดจะค่อยๆงอกขึ้นเป็นปกติ โดยทั่วไปแล้วในหนึ่งคนสามารถตัดตับออกไปได้ 60% และอีก 40% สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มช. มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตให้แก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่ (Adult to Adult living donor liver transplantation) โดยมีจำนวนการผ่าตัดมากถึง 15 ราย ซึ่งเป็นจำนวนการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ที่มากที่สุดในประเทศไทย
นายทศพล ศรีบาล ผู้บริจาคตับให้มารดา เปิดเผยว่า “คุณแม่ได้เจ็บป่วย เป็นโรคตับแข็ง ระยะเวลาประมาณ 10 ปี สาเหตุเกิดจาก โรคไวรัสบี อาการเริ่มแรกคือ มีอาการไข้ขึ้น นอนซึม เลยพาคุณแม่มาโรงพยาบาล จึงทำให้ได้รู้ว่าคุณแม่นั้นติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นโรคตับแข็ง คุณหมอได้พูดคุยกับครอบครัวว่า คุณแม่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ เพราะเป็นทางเลือกสุดท้าย หากไม่เปลี่ยน อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึงปี ในตอนแรกผมก็ตกใจ แต่คุณหมอได้ให้ข้อมูล และแจ้งลำดับขั้นตอนการรักษาอย่างละเอียด ผมจึงศึกษา และทำความเข้าใจเรื่อง การปลูกถ่ายตับ โดยสิ่งสำคัญในการผ่าตัดนั้นคือห้ามติดเชื้อ ถ้าสามารถผ่านขั้นตอนนี้ได้ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และแข็งแรงเหมือนเดิม นอกจากนี้ผมมีความเชื่อมั่นในโรงพยาบาลสวนดอก เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีอาจารย์แพทย์ผู้มีความรู้ มีความชำนาญเกี่ยวกับการผ่าตัดเป็นอย่างดี และยังมีตัวอย่างการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอีกด้วย


ผมเองมีความผูกพันกับคุณแม่มาก ความรู้สึกของคนเป็นลูกอย่างผมก็อยากให้ท่านมีอายุที่ยืนยาว เราไม่อยากให้คุณแม่เจ็บป่วย ถ้ามีโอกาสได้ทำเพื่อท่าน ขอแค่ได้รู้ว่าแม่จะยังอยู่กับเราในวันต่อๆไป ผมเองก็จะสู้และคุณแม่นั้นมีกำลังใจที่ดี และผมโชคดีที่สามารถบริจาคตับให้คุณแม่ได้สำเร็จ ทำให้ไม่ต้องรอรับบริจาค ซึ่งระหว่างรอการบริจาคอวัยวะ ต้องรอเวลา โอกาสที่จะเสียชีวิตจึงสูงมาก สุดท้าย ผมอยากจะฝากถึงหลายท่าน การบริจาคอวัยวะภายใน หรือ อวัยวะตับ มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วย เพราะเป็นการต่อชีวิตให้เขา และเป็นบุญกุศล อีกอย่างหนึ่ง คืออวัยวะตับที่เราบริจาคไปจะยังคงทำงานเป็นปกติ และจะสามารถเติบโตและสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และ ถือว่าเป็นการให้ชีวิตและเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งครับ”
คณะแพทยศาสตร์ มช. ขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมบริจาคอวัยวะแก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อต่อชีวิตต่อลมหายใจของผู้ป่วยที่รอความหวัง ถือว่าเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่สุดแห่งการให้ครั้งสุดท้ายของชีวิต ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาติไทย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053 936413 และ 0918513391