เชียงใหม่ เตรียมจัดเทศกาลผลไม้ของดีเมืองเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ เชิญชวนประชาชนเที่ยวชมเทศกาลผลไม้ของดีเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ร่วมอุดหนุนลิ้นจี่และมะม่วงจากเกษตรกร ในเดือนมิถุนายน นี้

 

8 มิ.ย. 66 ที่ ลานกิจกรรมชั้น 1 บิ๊กซีเอ๊กซ์ตร้า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในงานแถลงข่าวเทศกาลผลไม้ของดีเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ที่เตรียมจะจัดขึ้น 2 งาน ได้แก่ งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ไม้ผลอัตลักษณ์ “ลิ้นจี่” จังหวัดเชียงใหม่ และงานวันมะม่วงและของดีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 12 โดยมี นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยพันจ่าเอกวิทยา ลีละศาสตร์ รองปลัดองค์กรบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และนางนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ และผู้แทนเกษตรกร ร่วมพิธี

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มะม่วง และลิ้นจี่ เป็นผลไม้ที่มีความนิยม เนื่องจากมีความหอม หวาน รับประทานง่าย โดยจังหวัดเชียงใหม่มีสภาพภูมิอากาศและพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูกทั้งมะม่วง และลิ้นจี่ ส่งผลให้ผลผลิตมะม่วงและลิ้นจี่ที่ผลิตจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสินค้าคุณภาพ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเสริมและผลักดันให้ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ อำเภอฝาง ให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI  ขณะที่มะม่วงของจังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นสินค้าเกษตรคุณภาพอีกหนึ่งชนิด ที่ผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในและต่างประเทศ

ด้าน นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่จะมีผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาด กว่า 71,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง โชคอนันต์ จินหวง มหาชนก น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และพันธุ์อื่นๆ เช่น อาร์ทูอีทู แดงจักรพรรดิ งาช้างแดง เขียวเสวย มันขุนศรี และมันศรีวิชัย เช่นเดียวกับลิ้นจี่ ซึ่งเชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ที่มีความสำคัญต่อประเทศและเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงของจังหวัด คาดว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ 23,848 ตัน ทั้งลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ  ฮงฮวย กิมเจง และโอวเฮียะ

ขณะที่ นางนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ราคาลิ้นจี่ในปีนี้มีโอกาสขยับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 5-10 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตลดลง และจะมีรายได้จากการจำหน่ายลิ้นจี่ประมาณ 100 – 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่เข้าในระบบ มีส่วนทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดดีขึ้น ขณะเดียวกันมะม่วง จากที่มีการคาดการณ์ผลผลิตรวมจะมีจำนวนกว่า 71,000 ตัน ได้ทยอยกระจายให้ผลผลิตไม่กระจุกตัวเหมือนปีที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์ โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มีสัญญาณการสั่งซื้อมะม่วงมากขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้จากต่างประเทศอย่าง มาเลเซีย เกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ทำให้ราคาขยับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมเช่นกัน